พิธีไหว้ครู ปีการศึกษา 2567
"วันไหว้ครู" ถูกกำหนดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมิถุนายน วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นวันที่ลูกศิษย์พร้อมใจกันทำพิธีไหว้หรือบูชาครู เป็นช่วงเวลาที่เราจะใช้เวลาได้ระลึกถึงพระคุณของครูผู้ให้การอบรมสั่งสอน ซึ่งในปีนี้ วันไหว้ครู 2567 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 ประวัติความเป็นมาของวันไหว้ครู เกิดขึ้นครั้งแรกในที่ประชุมครูทั่วประเทศ เมื่อปี 2499 จากคำปราศรัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ในขณะนั้น ต่อมาก็มีการจัดงานวันครูขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500 ซึ่งกำหนดเป็น "วันครู" ซึ่งถือเป็นคนละวันกันกับ "วันไหว้ครู" วันไหว้ครูทุกปี จะตรงกับช่วงของการเปิดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1 ในโรงเรียนและสถานศึกษาจึงมีการจัดพิธีไหว้ครู พร้อมเครื่องบูชาพานดอกไม้ ธูป เทียน เป็นสัญลักษณ์แสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาจารย์ ซึ่งพิธีการไหว้ครูในสถานศึกษานั้นถือเป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน พิธีไหว้ครู จะใช้ดอกไม้หลักอยู่ 4 อย่าง มาทำพาน เพื่อให้ความหมายในการระลึกคุณครู ประกอบด้วย หญ้าแพรก ความหมายว่า ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก โตเร็ว ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ดอกเข็ม สื่อถึงว่า ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ ดอกมะเขือ สื่อความหมายเพื่อเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้น ต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง ข้าวตอก ด้วยเหตุผลว่า ข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก